Devotion for Deluge

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2554

ตื่นมาใกล้ๆ เที่ยง เมื่อวานคิดไว้ว่าจะไปตักทรายที่โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย

พอลองกลับมาคิดดูดีๆ

ใช่ว่าเราจะไม่ชอบการทำงานออกแรงนะ แต่ไม่ชอบงานที่ต้องเป็นแพทเทิร์นเดิมๆ ซ้ำกันมากกว่า ก่อนหน้านั้นเคยไปตักทรายที่ธัญบุรีมาแล้ว

แถมกลับมาก็อาการสาหัส ปวดไหล่ ปวดหลัง

ตอนทำงานก็ไม่ค่อยสนุก ยังดีที่ทำกับเพื่อนพี่น้องคณะ ทำอะไรซ้ำซากเดิมๆ ก้ม ปัก ตัก ใส่ ก้ม ปัก ตัก ใส่ ปวดหลังเอาตอนขั้นตอนก้มนี่แหละ

ไปผูกกระสอบทรายก็แค่เหนื่อยน้อยลง แต่ก็รับ ผูก มัด ส่ง รับ ผูก มัด ส่ง รับ ผูก มัด ส่ง

เลยหนีไปวางกระสอบทรายที่ดรีมเวิร์ล ก็ไม่ต่างกัน รถกระสอบทรายมา ก็ รับ ส่ง รับ ส่ง รับ ส่ง

ความสนุกมันอยู่ตรงไหนนนนนนนนนน

จะไปเหล่หญิง ทำงานแทบไม่ได้เงย โอยเหนื่อย แต่ดีนะมีเพื่อนคุย

เมื่อคิดขึ้นได้

เราจะไปตักทรายอีกทำไม วันนี้มีเพื่อนคณะกำลังจะไปตักทรายที่คลองหกในวันนี้ ผมก็ตัดสินใจว่าจะไปดีมั้ย

สะพายกล้องถ่ายรูปคู่ใจ เดินลงไปนั่งรอรถเมล์

เวลาบ่ายสองครึ่ง รถเมล์สาย 29 มาแล้ว… ขึ้น… มีที่ว่างนั่งด้านหลังสุด

นั่งไปเหม่อไป มองพี่ผู้ชายคนนึงด้วยความอิจฉา ทำไมผมเงาสลวยจัง เหล่หญิงคนนึงน่ารักดี

…ถึงดอนเมือง

สุดสายแล้วค่ะ เสียงกระเป๋าเรียก อ้าวเห้ย ไม่ได้ไปส่งถึงธรรมศาสตร์รังสิตเลยเหรอ

ใช่ ผมตัดสินใจแล้วว่าจะไปศูนย์พักพิงธรรมศาสตร์รังสิต

นี่คือชิ้นส่วนการเดินทางไปรังสิตพาร์ทแรก 23 กิโลเมตร ถึงในเวลาชั่วโมงครึ่ง

ลงก็ลง กะว่าจะเดินไปเรื่อยๆ แล้วลองโบกรถว่ามีใครจะไปทางรังสิตบ้าง…

ไม่มีเลย

ก็เลยเดินไปถ่ายรูปไป คิดไป ไหนน้ำวะ ไหนว่าน้ำท่วมวะ โห่ แห้งสนิท

พอเริ่มไปถึงตลาดสี่มุมเมืองปทุมธานี ยาวไปจนเซียร์รังสิต เริ่มมีกระสอบทรายกั้น น้ำเริ่มล้นท่อแต่ความลึกไม่เกิน 2 เซนติเมตรแน่นอน

จนยาวไปเรื่อยๆ ถึงแยกที่มีฟิวเจอร์ปาร์ค และเมเจอร์รังสิต คนและถนนเริ่มพลุกพล่าน น้ำขวางถนน เดินต่อไปไม่ได้ ตอนนั้นไม่อยากเปียกเท่าไหร่ เลยข้ามสะพานข้ามคลอง เลาะไปตามคันกั้นน้ำ เจอเด็กเล่นน้ำ ยังดีน้ำไม่ค่อยเน่าเท่าไหร่นะน้อง จากนั้นก็ขึ้นสะพานลอย แล้วปีนขึ้นทางยกระดับอีกที แคว่ก เสียงอะไรขาด อ้าขาดู ชัดเลย

…เป้าขาด

และแล้วการเดินทางไปธรรมศาสตร์พาร์ทสองก็จบ เดินเท้าจากดอนเมืองมาฟิวเจอร์ปาร์ค 8 กิโลเมตรครึ่ง เวลา 2 ชั่วโมง

…ใช่ครับ เดินเท้า และเป้าขาดตอนจบด้วย

หลังจากการเดินทรหด น้ำท่วมไปตลอดทางสูงราว 20 เซนติเมตร ผมไปเดินเล่นๆ บนแผงกั้นถนนเพื่อดูว่าจะเดินต่อไปได้มั้ย

เฉียดล้มไปหนึ่งครั้ง… ผมเดินกลับมา เพื่อรอโบกรถ

ต้องขอบคุณมอเตอร์ไซค์รับจ้างตรงนั้นที่โบกรถให้ผม ผมได้ร่วมขบวนไปกับคนขับรถโฟร์วีล ภรรยาคนขับ ที่ขับพากระสอบทรายไปยังวัดธรรมกายซึ่งก็ผ่านธรรมศาสตร์นั่นแหละ ส่วนผู้อาศัยมีผม เด็กหญิงธรรมศาสตร์ที่เรียกได้ว่าสาวแว่นสุดยอดหน้าคมคนหนึ่ง หนุ่มธรรมศาสตร์หน้าตี๋สกินเฮด คุณป้าเพื่อนซี้สองคน และชายพิการแขนสองข้างและขาอีกหนึ่งข้างที่ผมต้องยกขึ้นและลงรถ โถ่ ส่วนผมก็ต้องนั่งชิด ปิดเป้าขาดไว้ เขินน้องธรรมศาสตร์สาวแว่นสุดยอดคนนั้น

รถวิ่งฝ่าน้ำไปเรื่อยๆ ลึกบ้าง ตื้นบ้าง

ก่อนเข้าธรรมศาสตร์ จะมีตำรวจคอยให้ทาง และจัดระเบียบรถอยู่ พอรถคันผมมาถึงที่ที่ทำตำรวจยืน ตำรวจบอก “โชคดีครับ อุ๊ยของตก!” ความรู้สึกเหมือนมีเหล็กเย็นๆ มากระแทกบริเวณตัก หยิบขึ้นมาเป็นกระป๋อง 037 ในตำนาน

เมื่อถึงธรรมศาสตร์ ผมซึ่งนั่งด้วยท่ากอดเข่าแน่น แทบลุกไม่ขึ้น พอลุกขึ้นแล้วพยายามให้ 037 กับคนอื่น แต่ไม่มีใครกิน 037 เลย ผมเลยใส่ 037 ในกระเป๋าที่เป้าขาด เดินฝ่าน้ำเข้าไปตรงทางเข้าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ป้าๆ กับชายพิการไปไหนต่อไม่รู้ ชาวธรรมศาสตร์สองคนกลับหอ ส่วนผมมุ่งหน้าไปโรงยิม 1 ศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัย

จากฟิวเจอร์มาธรรมศาสตร์ใช้เวลา 1 ชั่วโมง รวมแล้ว เอ่อ…ใช้เวลาแค่ 1.30+2.00+1.00 อืม สี่ชั่วโมงครึ่งเอ๊ง Y Y

พูดตรงๆ ว่า ผมมาที่นี่ไม่ใช่เพราะมีจิตอาสาหรอก

แค่อยากลองทำอะไรที่ไม่เคยทำ เคยเป็นฝ่ายที่โดนน้ำท่วมและโดนช่วย คราวนี้จะเป็นฝ่ายช่วยบ้าง

แค่อยากถ่ายรูป เก็บเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ไว้

แค่อยากทำอะไรสนุก มาลงพื้นที่ ทำอะไรเสี่ยงๆ

เอาจริงๆ แค่เดินทางมา ก็สนุกชิบหายอยู่แล้ว นานกว่าตอนที่ปั่นจักรยานมาอีก

ผมมาถึงมองดูฟิล์ม ถ่ายไปแล้ว 28 รูป เหลือให้ถ่ายอีก 8 รูป

เมื่อเข้ามาถึงพบป้ายเยอะมาก มากมายจริงๆ ไปที่ไหนก็เจอให้อ่าน ด้านหน้าศูนย์จะเป็นหน่วยแพ็คอาหารชื่อว่าฝ่ายอาหารสอง คือแพ็คของแจกให้คนในพื้นที่ที่ประสบภัย

เข้าไปข้างใน มีให้ลงทะเบียนอาสาสมัคร แต่วันนี้ไม่ลงก่อน กะว่ามาถ่ายรูปอย่างเดียว แล้วค่อยกลับกับรถอาสาสมัครตอน 4 ทุ่ม

เดินสำรวจตรวจตราลึกเข้าไปอีก เจอลานเด็กเล่น เล่นกันเยอะจริงๆ ขึ้นไปชั้นสองเจอห้องเสื้อผ้ากองเท่าภูเขา ประมาณว่าเอาไปขายที่จตุจักร 10 ปีก็ไม่หมด เค้าเรียกหน่วยเบิกเสื้อผ้าว่าฝ่ายเซเว่น

อ้อมไปนิดนึงจะมีฝ่ายคลัง คือเก็บของทุกสิ่งอันไว้ให้เบิกอย่างเป็นระบบ ซึ่งเซเว่นเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายคลัง

พอเดินลงมาจะออกไปดูข้างนอกอีกรอบ ก็เจอเซเลบดัง ท่านว.วชิรเมธีนี่เอง คราวนี้มาฟังการระบายของชาวบ้านที่เดือดร้อน พร้อมให้คำแนะนำ คนก็สาธุๆ กันไป ตามแต่ศรัทธา

เดินเลาะทางขวาจากทางเข้าเจอฝ่ายอาหาร 1 อันนี้เอาไว้แจกอาหารแก่อาสาสมัครและคนในศูนย์พักพิง ข้างๆ นั้นจะมีฝ่ายที่พัก ที่ติดป้ายว่าฝ่ายที่รัก (…) ซึ่งมีสองชั้น ซึ่งชั้นบนน่ารักกว่าชั้นล่าง น่าชวนคุยกว่า (>///<) ที่รักจริงๆ ด้วย

ผู้ประสบภัยเมื่อมีมาก เขาก็จัดทีมประสานงานด้วย เพื่อร่วมงานกับอาสาสมัครได้ง่ายขึ้น เป็นระบบที่ไม่ได้มีตั้งแต่แรก แต่ค่อยๆ มีขึ้นมา ฝ่ายต่างๆ ก็ด้วย อันนี้รู้จากพี่ที่ชื่อโจร เพราะชื่อนี่แหละ ทำให้เราได้คุยกันยาวมาก ด้วยประโยคคำถามของผม “ทำไมพี่ห้อยป้ายโจรอะครับ?”

…แต่ความจริงแล้วผมรู้อยู่ก่อนแล้วว่าพี่เค้าชื่อโจร เพราะผมไปชวนน้องที่พักชั้นสองคุยเรื่องพี่โจรมาก่อนจะคุยกับพี่โจร

…เอ่อ นี่กูมาทำอะไรวะเนี่ย

สรุปแล้ววันนี้ใช้เวลากับการเดินทางมากกว่ามาอยู่ที่ศูนย์พักพิง ไม่ค่อยได้ช่วยอะไร นอกจากถ่ายรูป และนั่งคุยกับผู้ประสบภัย คุยกับอาสาสมัคร มีช่วยยกเสื่อน้ำมันมาวางไว้ในศูนย์

ระหว่างนั้นผมไปที่ฝ่ายเซเว่น เพื่อไปขอกางเกง เนื่องจากทนเป้าขาดไม่ไหวแล้ว เขาก็ให้อย่างง่ายมาก ดีใจจัง ได้กางเกงฟรีกลับบ้านอีก 1 ตัว

4 ทุ่ม รถเมล์ใกล้ออกพอดี พบกับลุงคนขับใจดี

และบนรถก็มีคนบาดเจ็บที่ขี้นอยเหี้ยๆ ที่ต้องไปรักษาตัวที่ดอนเมือง แต่กลัวเข้าดอนเมืองไม่ได้ (เขาไม่เคยไป) ทุกคนในรถบอกแล้วว่าไม่ยากเลย ถ้ายากนักเรียกแท็กซี่เข้าไป จบ แต่เดินไปก็ได้ เพราะรถเมล์ไปส่งถึงหน้าดอนเมือง แต่เข้าไปไม่ได้เพราะเป็นเขตทหาร

กว่าจะยอมเข้าใจ แต่สุดท้ายเนื่องด้วยความขี้นอย ก็ไปขอนอนที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ก่อน

แล้วรถเมล์ก็พาผมกลับมาถึงบ้าน พร้อมกับ 037 ของพี่ตำรวจคนนั้น

…พร้อมความคิดที่ว่า พรุ่งนี้กูไปเป็นอาสาสมัครเต็มตัวแน่นอน!

วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2554

ตื่นมาใกล้ๆ เที่ยงเช่นเดิม รู้สึกได้ถึงอาการหวัดคัดจมูกเล็กน้อย

นั่นแหละ เหตุผลที่ให้เริ่มไม่อยากไป พอเป็นหวัดก็ปวดเมื่อย ปวดหัว ไซนัส ปัญหาสารพัด

ชั่งใจอยู่ เพราะมีรถมารับอาสาสมัครที่มาบุญครองตอน 10 โมง และ บ่ายโมง ผ่าน 10 โมงไปแล้ว

เหลืออีก 2 ชั่วโมง นั่งเล่นคอมไป เก็บของไป

กินข้าวเสร็จอยู่หน้าคณะ อีก 10 นาทีบ่ายโมง เอาวะขนาดเดินไปยังทัน

เดินผ่านถึงหน้าประตูคณะ

ไม่เดินตรงไปเพื่อไปสู่มาบุญครอง

เข้าตึกคณะ

เดินขึ้นชั้นลอย

เข้าห้องน้ำ

ใช่ ปวดขี้เหี้ยๆ ไม่ไหวแล้ว ต้องปล่อยอย่างด่วนๆ

ออกมาจากคณะ ผ่านเวลาบ่ายโมงไปประมาณ 1 นาที

คิดเองเออเองว่า ไม่ทันแล้วแหละฮะ ลาก่อนรถอาสาสมัคร

เลยตัดสินใจนั่งรอสาย 29 ตามเดิม เพื่อไปถึงดอนเมือง แล้วหาทางต่อเอาเองแบบเมื่อวาน

นั่งรอ

รอ

…รอ และรอ

ไม่มีสาย 29 เลย อีเหี้ย นี่ผ่านมาชั่วโมงครึ่งแล้วนะ!

บ่ายสองโมงครึ่งผมยังนั่งรอสาย 29 อ่านมหาสนุกจบไป 1 เล่ม อ่าน NG จบไปหลายคอลัมน์ ไหนวะสาย 29!

เริ่มหงุดหงิด แล้วมันก็มา รีบกระโดดขึ้น มีคนรอสาย 29 เช่นกันอยู่หลายสิบคน

ได้นั่งเหมือนเดิม

เมื่อผ่านถึงอนุสาวรีย์ชัย พลันคิดได้ เห้ยต้องมีรถอาสาสมัครแน่เลย ไปถึงแถวรังสิตก็ยังดี เลยกระโดดลงมาจากรถ

(…ถ้าจะมาถึงแค่อนุสาวรีย์แล้วกูจะรอ 29 ทำไมวะ ความคิดหนึ่งแวบมา)

ถามคนแถวนั้น รถอาสาสมัครไม่มีแล้ว รถทหารก็ไม่เจอ เอาไงดี ตัดสินใจถามสายที่ไปใกล้รังสิตสุดแล้วกัน

มาลงตัวที่สาย 39 ไปถึงแยกลำลูกกา เอาวะ ไปก็ไป ใกล้สุดเท่าที่เจอแล้ว

นั่นแหละ แล้วพอออกมา ก็เจอรถทหารวิ่งกันให้พั่บ แต่ไม่รู้ไปไหนเหมือนกัน ตอนนั้นเหนื่อยเนื่องจากแรงหวัด ขี้เกียจลุกแล้ว นอน

zzz

zzzzz

ตื่นช่วงเลยเกษตร เส้นพหลโยธินเริ่มท่วมนิดๆ ตรงสายไหม

ก่อนถึงแยกลำลูกกาก็จอดตรงนั้นแหละ ผมเดินไปเซเว่นข้างเซียร์เพื่อซื้อน้ำดื่ม ไม่ไหว คอแห้ง

ข้ามมาฝั่งตรงข้าม เผื่อจะได้เรียกรถ และไม่นานรถ 29 ฟรีเฉพาะกิจก็ผ่านมา สวรรค์โปรด รีบจัดขึ้นไปทันที แต่เค้าไปไกลสุดแค่ฟิวเจอร์ปาร์คเท่านั้น ไม่ใช่รถอาสาสมัคร แต่รถส่งผู้ประสบภัย

ก็ต้องหาทางไปต่อที่จุดเดิม เส้นทางที่ผ่านมานั้นเห็นได้ว่าน้ำท่วมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งตลาดสี่มุมเมือง หรือฟิวเจอร์ปาร์ค คราวนี้ท่วมระดับอกแล้ว เท่าที่เห็นจากชุมชนข้างๆ

รอรถหน้าฟิวเจอร์ปาร์ค คราวนี้ไม่ค่อยมีรถเท่าเมื่อวาน เพราะน้ำท่วมสูงกว่าเดิมมาก

อ๊ะ รถบรรทุกไปธรรมกายมา แต่แม่งไม่จอดรับ เพราะคนขับไม่ได้ยิน แล้วคนที่นั่งอยู่ข้างหลังไม่กี่คนนั่นก็ไม่สนจะช่วยเคาะกระจกเลย ห่านเอ๊ย

สุดท้ายก็มีรถทัวร์ไปอยุธยาผ่านมา ก็ต้องจ่ายตังค์ 20 เพื่อไปธรรมศาสตร์ล่ะครับ ด้วยความป่วยจึงหลับไป

zzz

zzzzzzz

zzzzzzzzzz

ตื่นมา ถามกระเป๋า

“พี่ครับ ถึงธรรมศาสตร์แล้วยัง”

“อ้าวน้อง เลยไปแล้วนี่กำลังจะถึงนวนคร ตะกี้พี่ก็ตะโกนเรียกแล้วนะ”

ชิบหายยยยย แต่เอาเถอะ ลงมา ก็หารถกลับได้ เจอรถทหารก็ขึ้นไป

บนรถเป็นพวกพนักงานสลากกินแบ่งที่ไปแจกของยังชีพที่อยุธยาพึ่งกลับมา เขาก็ถามไถ่ว่าเรามาจากไหน พอตอบไปว่าเผลอหลับนั่งรถเลยมาก็เลยต้องหารถกลับ เค้าก็หัวเราะกันใหญ่ คุยกันถูกคอดี พอบอกว่ามาเป็นอาสาสมัคร เค้าบอกว่าเป็นคนดีใหญ่เลย อยากจะบอกเหมือนกันว่าไม่ได้ใจบุญอะไรนักหนาหรอก แค่อยากมาขำๆ หาประสบการณ์

จับรถแค่แวบเดียวถึงธรรมศาสตร์ แล้วเราก็ร่ำลา เดินเข้าไปในธรรมศาสตร์ทางเดิม เหมือนเดิม

…รับรู้ได้ถึงอาการคัดจมูก ที่ไม่ใช่อาการภูมิแพ้ แต่เป็นอาการหวัด เริ่มรู้ตัวแล้วว่าเป็นหวัด เพราะปวดเมื่อยตามตัว หวัดใหญ่ด้วย เอาแล้วไง

แต่เมื่อมาถึงแล้วทำไงได้ เดินเข้าไปตามช่องทางเดิมเหมือนกันกับที่มาเมื่อวาน แต่คราวนี้ไปลงทะเบียนก่อนเลย ก็มีให้กรอกใบรายละเอียดของอาสาสมัคร กับลงชื่ออาสาสมัครรายวัน

แล้วก็เคว้ง เพราะพึ่งมาใหม่ คนเขามีฝ่ายกันลงตัวหมดแล้ว กูจะไปช่วยใครดีหว่า

เดินไปนู่นไปนี่

แล้วสุดท้ายก็กลับมาที่ลงทะเบียน “เอ่อ มีงานอะไรให้ทำบ้างฮะ”

เค้าก็บอกว่ามีงานกั้นกระสอบทรายอยู่ด้านหน้า เอาวะ ไม่ค่อยอยากทำเท่าไหร่ งานออกแรงน่าเบื่อๆ พอกำลังจะออกไป ฝ่ายอาหาร 1 ก็กำลังขนน้ำเข้ามากันอยู่

ก็เลยไปช่วยขน

พอขนเสร็จ ก็มีผู้อพยพที่มาเป็นอาสาสมัครชวนกินข้าว

และสุดท้ายผมก็กลายเป็นฝ่ายอาหาร 1 พึ่งสังเกตว่า เขาเขียนป้ายตัวเองว่าฝ่ายขนม เพราะงานส่วนใหญ่เป็นงานแจกขนม กับโออิชิซะมากกว่า

คนที่ชวนผมกินข้าวชื่อพี่ชัย ชาวอยุธยา ข้าวเป็นข้าวผัดกะเพราลูกชิ้นปลา มีแกงส้มให้ตักเพิ่ม กับปลาดุกผัดเผ็ด

แล้วก็มีพี่ชัยอีกคน เป็นคนอยุธยาเหมือนกัน เค้าชวนผมคุยเยอะดี นึกว่าอยู่รุ่นเดียวกัน คืออายุ 30 กว่า พอบอกว่าอายุ 22 เค้าก็ทำหน้างงเลย ฮา

นัท เด็กสถาปัตย์ ธรรมศาสตร์ปี 2 ที่เหมือนว่าหัดถ่ายรูปอยู่ ยืมกล้อง Nikon D80 จากเพื่อน และสนใจกล้อง Nikon FM2 ของผม เห็นว่ามันสวยคลาสสิคดี

จอน เด็กศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ปี 2 เป็นชายสูงใหญ่ผมยาวฟู ชื่อจอนคงมาจอนที่ยาว เป็นเด็กอาร์ตๆ คารมดี

แปม เด็กศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ปี 2 เช่นกัน เป็นผู้หญิงที่ดูร็อคๆ หน่อย ผมไม่ค่อยได้คุยกับผมเท่าไหร่

ปอนด์ เป็นน้องสาวของแปม เรียนอยู่สตรีวิทย์ม.3 แต่ตัวใหญ่มาก ดูแล้วแทบไม่เชื่อเลยว่านี่คือเด็กม.3 ดูเป็นพวกรุ่นเดียวกับแปมและจอนได้เลย

ป๊อป ไม่รู้เหมือนกันว่าเรียนที่ไหน แต่น่าจะเรียนอยู่ ชอบอยู่กับจอน นิสัยคล้ายๆ กัน แต่ป๊อปดูเรียบร้อยกว่า

แล้วยังมีคนที่ผมจำชื่อไม่ได้ขอโทษด้วย T T ผมป่วย เบลอๆ ไปบ้าง ยิ่งเด็กวิทยา ธรรมศาสตร์ปี 4 แต่แต่งตัวเป็นเด็กม.ต้น ซึ่งเธอที่ชวนผมคุยบ่อยสุด แต่ผมจำชื่อไม่ได้ ยกโทษให้ด้วย ถ้าเห็นข้อความนี้ ช่วยบอกหน่อยแล้วกันว่าชื่ออะไร กับเด็กอีกคนที่อยู่กับป๊อปและจอน ผู้ชอบกินกุ้งทั้งเปลือก

งานขนม ดูเป็นงานชิวๆ ซึ่งก็ชิวจริงนั่นแหละ กินน้ำได้ไม่อั้น แต่ด้วยจิตสำนึกก็อั้นไว้ไม่ยอมกิน ฮา คอยแจกน้ำให้ผู้อพยพ เล่นกับเด็ก หลายคนดูเถื่อนเกินกว่ามาเล่นกับเด็กได้ แต่ความจริงใจดีมาก

ฝนตก พายุมา เหมือนเป็นลางบอกเหตุอะไรซักอย่าง น้ำที่ขังอยู่หน้าธรรมศาสตร์ ก็คงท่วมหนักไปอีก

ทีมข่าวสามมิติก็มา เป็นทีมข่าวที่มีมารยาทมาก อาสาสมัครบอกว่าไม่ควรถ่ายในที่พักของผู้อพยพ เพราะรุกล้ำความเป็นส่วนตัว เค้าก็ไม่ถ่ายจริงๆ

ก็เลยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี

เริ่มคุยๆ กันไปได้ซักพัก คนพวกนี้เป็นคนสนุก พอการมาด้วยใจไม่ได้ถูกบังคับ ทำให้เราเข้ากันง่ายดี

แล้ว 3 ทุ่มก็มีเรียกประชุมอาสาสมัครทั้งหมดครั้งแรก

…เริ่มได้ยินฝ่ายต่างๆ เม้าฝ่ายคลัง

ไม่รู้หรอกนะว่าจริงๆ แล้วเป็นยังไง แต่กลุ่มอาสาสมัครที่นี่ความจริงก็มีความระหองระแหงพอๆ กับความปรองดองเลยทีเดียว

เรียกประชุม มีอาจารย์คนหนึ่งของธรรมศาสตร์มาพูด ชื่ออ.ปริญญา ก็มาคุยเรื่องเราเป็นคนเดือนตุลา 54 อะไรซักอย่างไม่ค่อยได้ตั้งใจฟัง แต่ดูเหล่าอาสาสมัครก็ไม่ค่อยสนใจอาจารย์คนนี้ซักเท่าไหร่ พูดว่าตอนนี้ธรรมศาสตร์เป็นที่เดียวที่ไม่ท่วม เป็นเกาะที่ให้พักพิงอยู่ได้ ศูนย์พักพิงนี้จะอยู่ไปจนกว่าน้ำจะหยุดท่วม หรือน้ำท่วมศูนย์พักพิง เอากันให้ตายไปข้าง

แล้วก็เรียกฝ่ายคลังออกมาชี้แจง ก็มีเสียงซุบซิบกัน ว่ากันว่าฝ่ายคลังงกของเกินไป ทั้งๆ ที่ของก็มีมาก แบบมากเว่อร์ ส่วนฝ่ายคลังก็บอกว่าขอให้เข้าใจเราหน่อย ประมาณว่าที่แคบ คนก็เยอะ ต้องเข้มงวด ก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ เพราะเราพึ่งมา เราเองก็ไม่รุ้เหมือนกันว่าจริงๆ แล้วเรื่องเป็นยังไง

แล้วก็มีน้าช้างจากครัวเถื่อนๆ ออกมาพูด แล้วแจกเสื้อของท่านว.วิชรเมธี ที่สกรีนเสื้อว่า “ขอให้เธอเบิกบาน กับการรับใช้เพื่อนมนุษย์” ก็ดีเหมือนกัน ไม่เอาเสื้อมาเปลี่ยนเลย ได้มีเสื้อใส่กับเขาบ้าง

ประชุมเสร็จเอาเสื้อไปเก็บ ตอนนี้ว่างมากๆ เพราะผู้อพยพก็ทยอยกันเข้านอน ฝ่ายขนมหลายคนก็กลับหอกันหมด เหลือแต่จอนกับป๊อปที่ตั้งมั่นว่าจะนอนที่ศูนย์พักพิง ผมก็นั่งชิวไปเรื่อยๆ เดินไปดูน้องแพทฝ่ายที่พักชั้นสอง เพราะน้องน่ารักดี หรือเดินไปกินข้าวที่เหลือจากฝ่ายอาหารสอง เป็นข้าวผัดหมูอร่อยดี ทางฝั่งขนมของผมก็มีกุ้งต้มแต่ผ่านการแช่เย็นมาให้กิน น่าเสียดายไม่มีน้ำจิ้ม เลยกินไปได้แค่ประมาณ 10 กว่าตัวก็เอียนแล้ว (แต่ก็เยอะมาก)

แล้วอยู่ดีๆ ก็มีการรวมกลุ่มคุยอะไรบางอย่างตอนนั้นเที่ยงคืนกว่าแล้ว

ผมเข้าไปเสือก ได้ความว่าคันกั้นน้ำแตกแล้ว

ป๊อปกับจอนรีบขี่มอเตอร์ไซค์ไปสะพานสูงเพื่อดูน้ำ

ส่วนผมก็ทำไงดีล่ะ อยากไปเหมือนกัน แต่ได้ยินว่าคันกั้นน้ำไกลมาก

เดินเรื่อยเปื่อยอยู่ด้านหน้าศูนย์พักพิง รถเมล์เฉพาะกิจวิ่งเข้ามา พวกเด็กหอธรรมศาสตร์กรูกันกลับมาที่ศูนย์พักพิง เพราะอยู่ใกล้จุดที่คันกั้นน้ำแตก

ผมเห็นน้องผู้หญิงคนหนึ่งเดินใส่ชูชีพออกไปกับผู้ชายอีกคน ผมรู้แน่เลยว่า พวกมึงต้องไปช่วยที่คันกั้นน้ำแน่ๆ เลยเดินตามไป พวกเราได้ขึ้นรถ NGV ซึ่งไปรับเด็กที่หอธรรมศาสตร์ และปล่อยเราทิ้งไว้แถววงเวียนข้างสวทช. น้ำเริ่มขังตามถนน มองตรงไปจะเห็นรถแบ็คโฮยักษ์กำลังทำคันกั้นน้ำอยู่ พวกเราเดินไป คุยกันนิดหน่อย ทำให้รู้ว่าน้องสองคนนี้ก็เป็นเด็กจุฬาฯ เหมือนกัน โดยผู้หญิงมาจากวิทยา และผู้ชายมาจากวิศวะ พี่จำชื่อไม่ได้ ขอโทษด้วย T T

ไปถึงตอนแรกก็เคว้งๆ ไม่รู้จะทำอะไร ตอนนั้นตี 1 แล้วเห็นเค้าช่วยกันยกขอบฟุตบาทมาวางอีกฟาก ไม่รู้ยกทำไม แต่ก็ไปช่วยยก แบ็คโฮก็ทำหน้าที่ตักดินมาปิดส่วนที่รั่วไปเรื่อยๆ พอปิดฝั่งนี้ ฝั่งนู้นก็รั่ว พอปิดฝั่งนู้น ฝั่งนี้ก็รั่ว สถานการณ์น่ากลัวมาก ถ้าน้ำหลุดออกมาหมด ก็จะท่วมประมาณอก

ส่วนรั้วฝั่งสวทช. ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แม้น้ำจะไม่สูงไปกว่าส่วนที่รั้วตัน คือส่วนบนและล่างของรั้วจะเป็นปูนโบกไว้ตันๆ ส่วนตรงกลางรั้วจะเป็นซี่ๆ นั่นแหละถึงน้ำไม่สูงกว่า แต่น้ำก็ดันมาจากดินใต้กำแพง เปิดออกมาเป็นช่องโหว่รั่วออกมา ซึ่งก็ต้องอุดด่วนเหมือนกัน

วิธีอุดคือใช้กระสอบทรายอุดจากด้านใน เพราะถ้าอุดจากด้านนอกน้ำจะดันกระสอบทรายออกมาอยู่ดี

วิธีเอากระสอบทรายเข้าไปข้างใน ถ้าพยายามเอาลอดไปตามซี่รั้ว จะช้ามาก เลยต้องให้มีคนนึงไปอยู่ข้างบนรั้ว แล้วรับกระสอบทราย ส่งต่อให้คนที่อยู่ในรั้ว ช่วงแรกๆ ผมอยู่บนรั้ว แล้วค่อยลงไปอยู่ข้างในรั้ว แล้วสุดท้ายก็หนีออกมางานที่สบายที่สุด ส่งกระสอบอยู่ข้างนอก

ตอนอยู่ข้างในรั้วน่ากลัวอยู่เหมือนกัน เพราะผมเจองู แต่มันก็ว่ายหนีไป ทำให้ต้องระวังตลอดเวลา อีกทั้งกระสอบทรายที่ถูกโยนลงมาก็ทำเอาตัวเปื้อนไปหมด แล้วต้องวางกระสอบทรายลงไปในน้ำขุ่นๆ ซึ่งมองไม่เห็นแพทเทิร์นการวางเลย ทำให้ไม่รู้ว่าจะกันน้ำออกได้มั้ย

ปัญหาอีกอย่างคือ คนมักจะกรูไปช่วยกันช่องเดียว ทั้งๆ ที่มันรั่วหลายช่อง อีกทั้งก็มืด แต่ละช่องก็ต้องมีคนฉายไฟฉายอีก

ราวๆ ตี 3 พวกเราก็ยอมแพ้ มีการจัดหน่วยเฝ้าระวังน้ำอยู่ที่อาคารฝั่งตรงข้ามสวทช. เป็นอาคารที่เคยจัดงานโชว์กลางคืนจ๊ะเอ๋ลูกนก นิเทศจุฬาฯ-วารสารฯ ธรรมศาสตร์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

คนที่ดูท่าทางเป็นผู้นำ บอกรอ 7 โมงเช้าดีกว่า เพราะตอนนี้ลำบากมาก แล้วก็มีรถส่งอาสาสมัครทยอยกลับไปศูนย์พักพิง

ระหว่างอยู่บนรถ ก็มีเด็กคนหนึ่งคุยกับเพื่อนว่า “นี่แหละ งานนี้เรากลับบ้านไปจะได้ไปบอกแม่ได้ซะทีว่าน้ำท่วมได้ช่วยอะไรบ้าง”

เราช่วยอะไรได้บ้าง เอาจริงๆ การอุดคันกั้นน้ำครั้งนี้ ผมไม่คิดว่ามันจะกั้นได้ มีคนบอกว่าแค่ชลอเท่านั้นเอง ถ้ามันช่วยอะไรไม่ได้ ทำไมถึงมาทำ เพื่อเอาไปโม้ต่อ อันนี้ก็คงเป็นอีกเหตุผลนึง

“กูได้อุดคันกั้นน้ำสู้กับกระแสน้ำที่ไหลท่วมมาโว้ย!!!”

เอาจริงๆ ตอนที่ช่วยขนกระสอบทรายที่คลอง 6 นี่เหนื่อยมาก แต่นี่ทำแบบไม่หยุดพักเลย กลับไม่เหนื่อย มันมีทั้งความตื่นเต้น อะดรีนาลีนพุ่งพล่าน ทำได้เรื่อยๆ ไม่มีเหนื่อยเลยจริง

พอเค้าบอกให้พอ เท่านั้นแหละ ไข้ขึ้น ปวดหัว ถึงกับขอยาเลยทีเดียว ร่างกายก็เปลี้ยไปหมด

การสนทนาดำเนินไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งที่เริ่มคุยกันเรื่องมีสาระขึ้น ผมกลับมาสนใจฟัง (เสือก) อีกครั้ง

…น้องคนหนึ่งบอกว่า “ถึงมธ.อาจจะท่วม แต่วิกฤตก็ทำให้เราเห็นผู้นำ ทำให้เรารู้ได้ว่าเราจะฟังใคร ใครกันแน่ที่เจ๋งกว่ากัน”

เหตุการณ์ชุลมุน วุ่นวาย แต่แน่นอนยังมีคนที่ใจเย็น ไม่ใช่ว่าเขาไม่เดือดร้อน แต่เขากำลังพยายามคิดแก้ปัญหาเพื่อทุกคน

เพื่อธรรมศาสตร์

ผู้นำที่ดีเป็นอย่างไร เราจะเห็นได้ตอนช่วงวิกฤตนี่แหละ

แล้วผมก็กลับมาถึงศูนย์พักพิง จอนกับป๊อปก็ขี่มอเตอร์ไซค์กลับมาแล้ว

เราวางแผนกันก่อนว่าจะทำอะไรดี อาบน้ำ เปลี่ยนชุด กินข้าว สุดท้ายลงตัวกันที่กินข้าว มื้อดึกเป็นข้าวต้มกุ้ง

กินเสร็จเดินไปที่ฝ่ายเซเว่น เพื่อที่จะขอชุดเปลี่ยน ได้ยินมาว่าเดิมทีฝ่ายคลังไม่ให้เบิกเพราะไม่มีอะไรเลวร้าย แต่พอมาดูของจริงยอมให้เบิกเลยจ้า เราได้เสื้อโปโลซีพีสีส้ม กางเกงอโลฮ่า และบ๊อกเซ่อร์บางๆ มา 1 ตัว อะไรคือแฟชึ่น…

แล้วตอนลงมา ผมไปฉี่เลยหลงกับจอนและป๊อป ผมเลยเปลี่ยนชุดและเข้านอนเลย น้ำไม่อาบมันละ ค่อยกลับไปอาบที่บ้านพรุ่งนี้ นอนบริเวณชั้นสอง เพราะกลัวน้ำไหลบ่าเข้ามา เห็นเสื่อว่างอยู่เลยจัดแจงปูนอน

zzz

22 ตุลาคม พ.ศ.2554

ตื่นมาตอน 10 โมง (ว่าไป ไอ้ที่ไปอุดคันกั้นน้ำ มันก็วันที่ 22 นี่หว่า)

สะลึมสะลือมาก ปวดหัวเล็กน้อย จามตลอด ชัดเจนแล้วกูเป็นหวัด

ตอนแรกว่าจะอยู่ถึงรถออก 2 ทุ่ม แต่กลับเลยดีกว่า อาการไม่สู้ดี

ลงไปจะไปบอกลาพวกอาหาร แต่ก็เป็นช่วงที่ไม่มีอะไรแจก ก็นอนฟุบหลับอยู่บนโต๊ะกันหมด มีแต่พี่ชัยที่ตื่นอยู่ ก็เลยบอกลาไป เจอกันวันจันทร์

เดินกลับไป คิดว่าจะกลับยังไงดี รอโบกรถดีกว่า

รถเมล์ฟรีผ่านมา โบก ไม่จอด เห้ย ทำไมไม่จอดวะสราด

แล้วรถก็แทบไม่ผ่าน รถที่ผ่านก็เป็นรถที่โบกคงไม่เหมาะ เพราะไม่มีที่ว่างให้นั่งได้

สุดท้ายเลยมาลงเอยที่รถสองแถว แค่ 10 บาท ถึงฟิวเจอร์

เค้าใจมาก เค้าจอดรับทุกคน จนรถไม่มีที่ยืนแล้ว แม้น้ำจะท่วมสูงพอสมควร แต่รถก็ยังไปต่อได้

ถึงฟิวเจอร์ อยากเดินแวะถ่ายรูปต่อ ลุยน้ำไปเรื่อยๆ น้ำบริเวณนั้นสะอาดพอสมควร โดนแล้วไม่คันเยิบ ใสแจ๋ว มีขุ่นโคลนเล็กน้อยตามประสา

เดินไปซักพัก ไม่ได้ถ่ายเลยซักรูป กอปรกับเริ่มเหนื่อย

โบกรถคนนึง ถามปลายทางของเค้า เค้าบอกไปหมอชิต โอเค ผมไปด้วย บนรถมีครอบครัวหนึ่ง และแก๊งชาวอีสาน

รถขับไปเรื่อยๆ ตอนแรกรถเข้าทางสายใหม

น้ำท่วมยาวคร่าบ ไปไม่ไหว สุดท้ายรถเลยหนีทะลุผ่านอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ไปยังถนนวิภาวดี-รังสิต ซึ่งมีท่วมขังบ้าง แต่พอถึงหน้าดอนเมืองไปก็แห้งยาว ขับฉิว แป๊ปเดียวถึง

แวะส่งครอบครัวหนึ่งก่อนแถวศูนย์ฝึกร.ด. เหลือผมกับแก๊งชาวอีสานที่จะกลับบ้านหนีน้ำมุ่งหน้าไปหมอชิตสอง

ถึงหมอชิต ผมเดินไปรอรถเมล์ตรงข้ามตลาดนัดจตุจักร พบว่าเมื่อวานทำไมถึงไม่มีสาย 29 มาแถวหน้าจุฬาฯ เลย

เพราะ 29 กลายเป็นรถเสริมรังสิต-อนุสาวรีย์กันหมด!!! ประมาณว่ารถสาย 29 20 คันแรกที่ผ่านมาเป็นรถเสริม โอยกูจะเป็นลม

จนคิดว่า นั่งไปอนุสาวรีย์ก็ได้ แล้วค่อยต่อรถ

รถสาย 29 ไปถึงหัวลำโพงก็มาพอดี ป.อ.ด้วย สู้อากาศร้อนได้ดีทีเดียว กระโดดขึ้นไปไม่ต้องคิด

ด้วยอาการป่วยๆ ซึมๆ ผมหลับอย่างง่ายดาย

zzz

zzzzzz

zzzzzzzzzzzz

และในที่สุด ก็ถึงหอ บ้านบางรักของผม เย่

ในที่สุดก็ได้อาบน้ำซะที วันจันทร์จะไปธรรมศาสตร์อีกรอบ

วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2554

ธรรมศาสตร์น้ำท่วมไปเรียบร้อย เค้าบอกไม่ต้องมาแล้ว…จบ.

ปล. นอกจากจะเขียนจากที่ตาเห็น หลายๆ อย่างเขียนจากความทรงจำ และการได้ยินมา ใครมีข้อชี้แจ้งจะแย้งก็เชิญตามสะดวกนะ


Slow Rider ปั่นไปตามหัวใจ

ช่วงนี้เป็นเวลาที่ครบ 1 ปีสำหรับการปั่นจักรยานฟิกซ์เกียร์แล้ว

จำไม่ได้หรอกว่าซื้อจักรยานฟิกซ์เกียร์มาตอนไหน แต่จำได้ว่าซื้อมาช่วงตุลาคม

หลังจากไม่ได้ปั่นจักรยานมา 4 เดือน เพราะจักรยานคันก่อนหน้านั้นโดยขโมยที่หน้ามาบุญครอง

ซึ่งก่อนหน้าที่จักรยานโดนขโมยก็คิดไว้แล้วว่า ถ้าจักรยานหาย หรือพังแบบค่าซ่อมแพง คันต่อไปจะซื้อฟิกซ์เกียร์

และนั่นแหละ พอซื้อแล้ว

กลายเป็นว่า…ตามกระแส

ตั้งแต่จำความได้ ก็ปั่นจักรยานตั้งแต่ยังเด็ก ปั่นแบบแบบมีล้อพยุง จนรู้สึกว่ามันไม่เท่ อยากจะขี่แบบสองล้อบ้าง ก็หัดอยู่วันนึงจนมันขี่ได้ แล้วก็ขี่ไปไหนมาไหนแถวบ้านตลอด ขี่เถลไถลจนโดนแม่ด่าก็เคย ขี่แข่งกับเพื่อนไปบนถนนโล่งๆ ที่ตอนนี้กลายเป็นที่ส่วนบุคคลไปแล้ว การที่ความทรงจำวัยเด็กยังน่าระลึกอยู่ได้ ก็เป็นเพราะจักรยานส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ชีวิตมีสีสัน เบื่อก็ออกไปปั่นจักรยานเล่น ไม่เหมือนสมัยนี้เบื่อก็จ่อหน้าคอม

ปั่นมาตลอด แล้วค่อยๆ เว้นว่างไปตอนม.ต้นเพราะติดเกมออนไลน์อย่างหนัก นั่นแหละ ชีวิตเด็กเจนวาย โดนสื่อครอบงำง่าย แล้วยังติดบอร์ดแร็ก บอร์ดประมูล พันทิปอะไรอีก สารพัด

จนตอนม.ปลาย ได้มาเรียนกรุงเทพ ตอนนั้นก็ไม่ได้นึกถึงจักรยานเท่าไหร่ นั่งรถเมล์ไปโรงเรียน ถ้ารถเมล์ไม่มาก็รอเด็กโรงเรียนเดียวกันเยอะๆ แล้วเรียกแท็กซี่ไป บางทีถ้าตื่นเช้ามากๆ ก็เดิน

การมากรุงเทพ ผมถึงได้เข้าใจว่าทำไมเค้าถึงรณรงค์ไม่ให้คนขับรถยนต์นั่งคนเดียว

ใช่มันทำให้รถติดระยำ

ยังแปลกใจ การสื่อสารมวลชนของกรุงเทพ คนก็ไม่ได้ใช้กันน้อยๆ นะ รถเมล์ รถไฟฟ้าแน่นขนัดกันตลอดในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ ก็แน่นจนแทบแทรกเข้าไปไม่ได้

แต่ทำไม แต่ทำไม แต่ทำไม แต่ทำไม

ตอนม.5 ผมเลยตัดสินใจซื้อจักรยานจากโลตัส

ในความเป็นจริงแล้ว แม้จักรยานจะดูคล่องแคล่วกว่ารถยนต์ในกรุงเทพ แต่ด้วยน่องและเกียร์มันทำความเร็วได้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรอก แค่ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ก็หล่อแล้ว ทำไมช้าแล้วยังขับ ทั้งที่การโดยสารอื่นมันเร็วกว่า ผมไม่ได้คิดถึงเรื่องสีเขียวอะไรนักหรอกตอนนั้น แค่รู้สึกว่า มันสะดวกกว่า และรู้สึกว่าได้ทำอะไร ดีกว่ายืนเฉยๆ บนรถเมล์แค่นั้นเอง

ผมใช้จักรยานแทบทุกวัน จอดไว้ข้างตึกเรียน วันไหนฝนตกก็กลับรถเมล์ ทิ้งจักรยานไว้ที่โรงเรียน

แต่เผอิญช่วงนั้นฝนตกติดต่อหลายวันไปหน่อย ลามยาวไปถึงเสาร์-อาทิตย์ ไม่ได้เข้าโรงเรียน

ใช่ครับ กลับมาวันจันทร์จักรยานหาย เสียใจมั้ย เสียใจ แต่ก็ช่างเถอะในเวลาอันรวดเร็ว

จนพอผมเกือบลืมจักรยานคันนี้ได้แล้ว ผมรู้สึกว่าอยากตัดผม เลยไปที่บ้านพักคนงานที่โรงเรียน ซึ่งเค้ารับตัดผมอยู่ ซึ่งมันถูกดี ผมชอบใช้บริการ

จักรยานผมตั้งอยู่ที่บ้านพักคนงาน ตกใจมากกว่าดีใจซะอีก เข้าใจว่าเค้าเจตนาดี เห็นจักรยานผมไม่ได้ล็อค เลยเอามาเก็บให้ แค่ลืมบอกผมเท่านั้นเอง ผมเลยถือวิสาสะเอาคืนโดยขับออกไป โดยไม่กล่าวขอบคุณหรือตำหนิคนงานที่เก็บไป ซึ่งตอนนั้นไม่รู้อยู่ไหน

จนจักรยานโลตัสถูกๆ ก็พังไปในเวลาไม่ถึงปี

ตอนนั้นม.6

พ่อเลยเอาจักรยานปั่นเรซซิ่ง หรือจักรยานแข่งนั่นแหละให้ผมปั่น ราคาหลายหมื่น ตอนนั้นเสียวมาก แพงขนาดนี้ดูแลไม่ไหวแน่ เลยเอาโซ่มาล็อค

ระยะเวลาไม่ถึงเดือน ฝนเทลงมา

คราวนี้ล็อคไว้อย่างดี ไม่มีหาย แล้วนั่งรถเมล์กลับบ้าน

เข้าแก๊ปเดิม ไม่มีเกมพลิก

หาย!

เหี้ยยยยยย ไปที่บ้านพักคนงาน ไม่มี ไปที่ไหน ไม่มี แทบบ้า ปัญหาคือจักรยานแม่งแพงไง

เดินเซ็งกลับบ้าน ตอนนั้นทำใจได้แล้วว่ามันหาย

แล้วก็ไม่ได้ปั่นจักรยานอีกเลยจนกระทั่งจบปี 1 ผมอาจลืมไปแล้วว่าตัวเองเคยปั่นจักรยาน

คณะผมคนปั่นจักรยานน้อยมาก เพราะเด็กจุฬาฯ ส่วนใหญ่มีอันจะกิน และมักขับรถยนต์มาเรียนกัน จักรยานคงจะลำบากและอันตรายเกินไปในกรุงเทพฯ

ผมก็อาศัยการขนส่งมวลชนเหมือนเดิม เพราะผมต่อต้านการมีรถยนต์ส่วนตัว อย่างมากสุดก็คือมอเตอร์ไซค์

จนจบปี 1 ผมไปเอาจักรยานโสกรังที่ใช้มาตั้งแต่ประถมมาใช้ที่กรุงเทพ เบรกกาก ล้อกาก คนในคณะยืมใช้ ไม่กี่เดือน พังอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ผมใช้มาร่วม 10 ปี

แม้ยังไม่ประจักษ์ถึงคำว่าสาธารณะ น้ำใจ และมารยาทของเด็กคณะผม ผมก็มีจักรยานพับคันใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว

ผมลุยไปกับจักรยานคันนี้เยอะมาก ขี่ไปนู่นไปนี่ เคยขี่ไปลาดพร้าว จนยางแตก ไปจตุจักร ไปหมอชิต ไปอ่อนนุช ไปท่าพระจันทร์เพื่อกินข้าวเที่ยงแล้วขี่กลับ

ขณะเดียวกันเพื่อนพี่น้องร่วมคณะก็ทำผมเจ็บ ใช้จักรยานผมราวกับว่าไม่มีเจ้าของ เอาไปใช้ไม่บอกก่อน แม้จักรยานมันช้ากว่าขับรถ แต่มันก็สะดวกกว่ารถ และเร็วกว่าเดิน สะดวกจนแทบไม่ต้องบอกอะไรผม ขึ้นคร่อมแล้วจากไป จนเวลาที่ผมอยากใช้ก็ไม่ได้ใช้

รุ่นพี่คนหนึ่งบอกว่า ถ้าเอามาวางคณะ ก็ควรเป็นของคณะ อยากจะถ่มน้ำลายใส่พี่คนนั้น ความคิดสถุลไม่เข้าท่า ผมเอามาเพื่อแบ่งปัน แต่ขณะเดียวกันก็ควรจะมีมารยาทต่อเจ้าของด้วย

ผมมีจักรยานพับได้อีกคันขณะที่อยู่คณะนี้ ครั้งนี้ผมพกมันขึ้นรถทัวร์ไปปั่นเที่ยวเมืองเชียงใหม่ ผมไม่รู้จักเส้นทางเชียงใหม่หรอก แต่เพราะจักรยานที่ปั่นช้าๆ นี่แหละทำให้ผมรู้จักเมืองเชียงใหม่มากขึ้น แล้วทำให้เงินหมดช้าลงด้วย เพราะไม่ต้องไปเผชิญกับราคารถแดงมหาโหด

ความช้าทำให้เราพบเห็นอะไรมากมายระหว่างทาง อยากแวะจอดตรงไหนก็จอด

ไม่ช้าจนเสียเวลาเท่าการเดิน แต่ก็ไม่เร็วจนเรารู้จักแค่ต้นทางกับที่หมาย

จอดทิ้งไว้ที่เชียงใหม่ 7 วัน ไม่หาย

แต่จอดไว้ที่หน้ามาบุญครองแค่ช่วงเวลาดูหนังเรื่องเดียว หาย! ล็อคแล้วด้วยนะ

ชีวิตมันเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ขนาดนี้แหละ แต่ทำใจง่ายมาก เพราะถ้าคิดกับตอนจักรยานแข่งของพ่อหายแล้ว มันจิ๊บจ๊อยและกระทบจิตใจน้อยกว่ามาก

ตอนนั้นปี 4 แล้วตั้งมั่นว่าจะซื้อฟิกซ์เกียร์มาก แต่จนแล้วจนรอด แทบไม่มีเวลาว่างไปซื้อเลย ร้านที่เพื่อนแนะนำมาก็อยู่ไม่ไกล แต่ก็ไม่ได้ไปซะที ขณะที่กระแสจักรยานในคณะเริ่มฟีเวอร์ คนเริ่มขี่กันมากขึ้น ผมเห็นแล้วดีใจมาก

จนถึงเดือนตุลาคม ก็ได้ฤกษ์ ได้ชัยปั่นฟิกซ์เกียร์ ไม่ยากอย่างที่คิด แต่ถ้าจะเล่นท่าเล่นอะไรคงยาก เพราะเป็นฟิกซ์เกียร์สายปั่น คงได้แค่การสคิด (การเบรคจักรยานโดยการรั้งบันไดไว้ และให้จักรยานไถลไป) หรือทำแทรคแสตนด์ (การยืนด้วยล้อจักรยาน เลี้ยงจักรยานไปหน้าถอยหลังทีละนิด ให้จักรยานนิ่งอยู่กับที่ โดยที่เท้าไม่แตะพื้น) แต่กว่าจะทำพวกนี้ได้ ก็ปาไปเกือบปีล่ะครับ เพราะผมไม่ได้สนใจฝึกเลย ปั่นอย่างเดียว

นอกจากถูกหาว่าปั่นตามกระแสแล้ว (ทั้งกระแสฟิกซ์เกียร์ หรือกระแสจักรยานทั้งที่กูปั่นมาหลังกูคลอดไม่กี่ปี)

การที่ฟิกซืเกียร์ติดเบรคไว้ ทำให้ผมโดนปรามาสไปไม่น้อย

การที่ฟิกซ์เกียร์ติดเบรคมันดูเห่ยตรงไหน ผมไม่ทราบ ความปลอดภัยสำคัญกว่าความเท่นะสำหรับผม ยิ่งผมเป็นคนปั่นฟิกซ์เกียร์มือใหม่ด้วย ถ้าไม่ติดเบรค ก็คงจบ

ก็ไม่ได้โกรธคนที่ว่าหรอกนะ แค่เซ็ง ทำไมปั่นฟิกซ์ต้องไม่ติดเบรค ขณะที่เกาหลีหรือญี่่ปุ่น มีกฎหมายควบคุมจักรยานประเภทนี้ว่าต้องติดเบรคด้วยซ้ำ แม่งอดเท่ทั้งประเทศ

ยิ่งประเทศไทยกฎหมายจักรยานอ่อนแอมาก จักรยานโดนชน แทบไม่มีกฎหมายอะไรมาคุ้มครองเลย ในขณะที่อังกฤษ ถ้าคู่กรณีรถกับจักรยาน จักรยานจะได้คำว่า “ถูก” เสมอ เพราะเค้ารณรงค์ให้คนปั่นจักรยานกันเยอะมาก

ในขณะที่ไทยก็มีการรณรงค์ปั่นจักรยานอยู่เรื่อยๆ แต่ก็แค่การประชาสัมพันธ์ ปิดถนนให้ขี่ช่วงในงาน แล้วถึงเวลาจริงทางจักรยานก็แคบเท่าจิ๋มมด แถมเวลาจะใช้จริงก็มีรถจอด ท่อน้ำเส็งเคร็งบนถนนอีก โอ๊ยเบื่อ ไม่เอาจริงซะที นโยบายใหม่รัฐบาลก็เข้าข้างรถยนต์อีก จักรยานอะ จักรยาน

แต่คิดในอีกทางขณะเดียวกัน จักรยานหลายคันก็ต้องเลิกขับเหี้ยซะที แซงซ้ายอย่างงี้ ฝ่าไฟแดงอย่างงี้ (ผมก็เป็นในบางที พยายามจะไม่ทำอยู่)

ซึ่งถ้าเรียกร้องจะให้เค้าเคารพเรา เราก็ต้องเคารพเค้าก่อนนี่เนอะ

…ว่าแต่…เรามาเรื่องนี้ได้อย่างไร

มาที่เรื่องเบรครถ ผมว่าการที่เรามีเบรครถก็เซฟในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าถึงระดับที่ถอดเบรคแล้ว มันก็ดีอย่างนึงคือ เวลาขับห้ามใจลอย ต้องมีสมาธิสูงมาก และต้องแข็งแรงมากยามคับขัน นั่นแหละ ซึ่งในช่วงแรกๆ ผมยังไม่มีสิ่งหลังสุด

พอประสบการณ์แก่กล้าผมก็ถอดเบรค ก็โดนปรามาสจากคนอีกกลุ่มว่าถอดทำไม อันตราย (ฮาาาาาา)

จนถึงวันนี้ผมปั่นฟิกซ์ได้ปีกว่าแล้ว ยังไม่หาย ยังอยู่ เวลาจอดทิ้งไว้พารานอยด์ตลอด (ฮา) แม้จะเลิกจอดหน้าห้าง ไปจอดในห้าง ชั้นใต้ดิน ตีซี้กับยาม (ยามหอศิลป์จำผมได้แล้ว)

จนถึงวินาทีนี้ จักรยานให้อะไรผมมากจริงๆ


A Trip to the Moon

A Trip to the Moon เป็นภาพยนตร์ของเมลิแยร์ ชาวฝรั่งเศสซึ่งเคยมีอาชีพเป็นนักมายากลมาก่อน
A Trip to the Moon เป็นการจดบันทึกการเดินทางไปดวงจันทร์ของผมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมตั้งใจหาที่จดบันทึกสั้นๆ ระหว่างผมเดินทาง
ผลเลยสรุปได้ว่า ผมได้จดลงบนทวิตเตอร์
นี่คือบันทึกรวบยอดทวิตเตอร์ ที่ผ่านมา เพื่อความสมจริงลำดับเวลาจะเริ่มมาจากด้านล่าง แต่อ่านจากข้างบนก็คงได้อรรถรสอีกอย่าง ราวกับดูเรื่อง Memento ของคริสโตเฟอร์ โนแลนประมาณนั้น
@NaNonERWA’s Tweets
  • เห็นพระจันทร์ด้านที่คุ้นเคยอีกครั้ง
  • Download Cold Star ลงเครื่องแม่งเลย นี่
  • ง่วงจนอยากทิ้งกายหลับซะให้พ้นๆ แรงโน้มถ่วงโลกนี่ช่างรุนแรงต่อร่างของมนุษย์เสียเหลือเกิน
  • ดราม่าล่าสุดแม่งมันว่ะ
  • กลับมานอนแถวท่าอากาศยานโลก
  • เข้าสู่ภาวะง่วงแทนแล้ว
  • Money สะท้อน Capitalism
  • หาหนังเจอแล้ว แต่กว่าเพลงจะจบ แม่งจะกลับโลกก่อนป้ะเนี่ย
  • บาดใจที่สุด The Great Gig in the Sky
  • ยกย่องความเทพของลำโพง iMac
  • หาหนังดูไม่เจอ เหี้ยยยยยย
  • เหมือนกำลังจะกระโดดกลับโลกแล้ว ไวจัง
  • ตื่อดื่มมมมมมมมมมมมม เหี้ย แมคกดตัวอักษรแช่ไม่ได้ เซ็งสาดด
  • แต่แนะนำว่าอยู่ดวงจันทร์แล้วต้องฟังชมพูด้านมืดของดวงจันทร์จริงๆ ความล้ำแบบนี้หาไม่ได้ขณะอยู่บนโลก
  • ไม่ค่อยรุนแรงเท่ากับ Happy Brownie พอรู้สึกตัวมากกว่า พลังจิตรกรรมไม่ออกว่ะ
  • หมดเรี่ยวแรง
  • กลับมาพูดภาษาไทยกับเพื่อนได้แล้ว เยะเย
  • Dark Side of the Moon ฟังแล้วรู้สึกราวกับตัวเองบินได้ แค่่ผ่านไป 2 แทรคเองเนี่ยนะ
  • ทวิตเตอร์บันทึกเส้นทางสู่ดวงจันทร์เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 เริ่มตั้งแต่ทวีตนี้
ไม่สั้นไม่ยาว เพ้อเจ้อดี และกระแดะฟัง Pink Floyd อีกแล้ว บนดวงจันทร์ ลำโพงของไอแมคดีขึ้น ขอคารวะแด่สตีฟ จ๊อบส์อีกหนึ่งคำนับ
ก่อนจะล้มตัวนอน ได้เห็นภาพนี้ขึ้นมาในหัว เลยลุกขึ้นกลับมาวาด ได้เป็นรูปนี้
ดูไม่เซอร์เรียลเลยเนาะ แต่มันเซอร์เรียลตรงที่ได้ภาพการ์ตูนแบบนี้แหละ

Pop Life วันที่ชีวิตป๊อปๆ

วันนี้ตื่นมาด้วยคำว่าต้องทำงาน!!!

พรุ่งนี้ต้องส่งคลิปงานเลี้ยงปิดกล้องของกองหนังที่ออกมาด้วยกัน 26 วัน 26 คิว

วันที่ 8 กันยายน คือวันนี้ที่หมายถึง ผมตื่นราวๆ เที่ยงวัน ความจริงตื่นมา 9 โมงเช้าแต่ตื่นไม่ไหว เพราะเมื่อคืนออกกองถึงตี 4 ครึ่ง โอเค เลือกปิดนาฬิกาปลุกในมือถือ แล้วหลับเป็นตาย แม่โทรมาก็ไม่ได้ยิน…แหงงล่ะ เพราะตั้งสั่นไว้

วันที่ 8 กันยายน เป็นวันที่ถัดจากการออกกองวันสุดท้าย เป็นวันที่ผมยังต้องตัดต่อคลิปให้เสร็จทันวันพรุ่งนี้ และยังต้องไปเอาเทปมินิดีวีที่จีทีเอชเพื่อให้คลิปสมบูรณ์อีก เป็นวันที่ประเทศไทยยังมีน้ำท่วมหนัก เป็นวันที่โรงหนังเฮ้าส์มีงานแฮปเพนนิ่ง เป็นวันที่แม่มากรุงเทพฯ และอยากเลี้ยงข้าวลูก

เป็นวันที่เยอะว่ะ

แคป (กริยาการเอาข้อมูลจากเทปลงคอมพิวเตอร์) เทปไปได้ทั้งหมดแล้วหมดสิ้นในเวลาบ่าย 4 โมง เลยเดินทางไปเอาเทปที่จีทีเอช เกิดปัญหาเล็กน้อยแต่ก็ได้เทปมา จากนั้นจึงเดินเท้าจากจีทีเอชไปสถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์ ระยะทางก็ประมาณ 1 กิโลเมตรไม่ไกลสำหรับการเดิน

ระหว่างทางหยิบวอล์คแมน (ความจริงไม่ใช่หรอก มันยี่ห้อ AIWA แต่ถูกเหมารวมว่าเป็นวอล์คแมนไปด้วย) ที่มีซีดีอัลบั้มเดอะวอลล์ของพิงค์ฟลอยด์บรรจุอยู่แล้ว เกิดมาเคยฟังเพลงอยู่ไม่มาก เชื่อว่าในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ที่เรียนมา ผมเป็นคนที่ฟังเพลงน้อยติดอันดับคณะได้ แต่กระแดะเสือกอยากฟังพิงค์ฟลอยด์

และความกระแดะนั้นพาผมมาถึงสถานีรถไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว ไม่น่าเชื่อว่าดนตรีที่ถูกคอมโพสบรรเลงขึ้นมาหลายสิบปีมันจะทรงพลังได้ขนาดนี้ ขนาดฟังไม่เข้าใจทั้งหมดนะเนี่ย เป็นวงที่เปิดโลกดนตรีมาก รู้สึกว่าไลฟ์สไตล์ชีวิตวันนี้…กระแดะจัง

จากนั้นผมจึงไปกินข้าวกับแม่ ปกติผมเป็นคนขี้รำคาญแม่นะ แต่ครั้งนี้โอเคดี อีกทั้งแม่ยังเข้าใจศัพท์คนวงการภาพยนตร์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ดีใจจัง

จากนั้นจึงไปงานแฮปเพนนิ่งที่โรงหนังเฮาส์ จุดประสงค์หลักเพื่อดูเรื่อง All About Lily Chou-Chou ฟรีๆ แต่ระหว่างนั้นจุดประสงค์รองทำเอาผมเสียตังค์ไปมากกว่าราคาหนังหลายเท่าตัวอยู่ (หนังดูฟรี) อย่างหนังสือไบโอสโคปที่บรรจุเรื่องของเพื่อนร่วมภาคภาพยนตร์ หรือเสื้อหนัง Clockwork Orange หนังที่ผมกระแดะดูอีกเรื่อง

หลังจากชมภาพยนตร์ฟรีแล้ว Lily Chou-Chou คือหนังที่ผมเคยดูแล้วหลับ แต่นั่นมันเป็นเรื่องของนวัตกรรมดีวีดี และระบบเสียงจากโทรทัศน์ พอมาเจอพลังเสียงของลำโพงรอบทิศ และลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่กระหึ่มเสียงเบส จอผ้าใบใหญ่เบ้อเร่อ หนังมันตรึงเรามาก วันนี้ เมื่อกี้พึ่งฟังเพลงจากซีดี แฟชั่น ไลฟ์สไตล์เมื่อสิบปีก่อน ความป๊อปของชีวิตระเบิดออกมา

…พร้อมกับหนัง

เดินทางกลับบ้านด้วยแท็กซี่ แท็กซี่ก็เปิดคลื่น 106.75 ไม่รู้จักชื่อคลื่นหรอก แต่คลื่นนี้มีเล่าเรื่องผี

ถ้าเป็นคนอื่นคงกลัวอะนะ แต่ถ้าฟังไปคิดไป มันตอแหลสิ้นดี ผีที่เล่ามาเป็นภาพจำจากในหนังทั้งนั้้น

กลับบ้าน แคปงานต่อ เปิดเว็บเล่นเฟสบุ๊ค หมดไปหนึ่งวันไลฟ์สไตล์ป๊อปๆ


Love on 20 pages

ผมอ่านการ์ตูนเรื่องนี้เล่มแรกตอนใกล้ขึ้นปี 3

และได้อ่านเล่ม 2 ตอนใกล้จะจบปี 4

Love on 20 pages เป็นการ์ตูนไทย ลายเส้นหลายคนบอกว่าไม่สวย แค่เห็นก็คงยี้กันแล้วใช่มั้ย

ในแวบแรกที่ผมเห็นนั้น ผมก็ยี้เหมือนกันกัน แม้จะอ่านการ์ตูนไทยมามาก แต่ผมก็ยังมีอคติต่อการ์ตูนไทยอยู่ไม่กี่มากน้อย ด้วยความที่การ์ตูนไทยนั้นพยายามจะมุ่งไปสู่ความอาร์ตหลุดโลกไม่สนใจผุ้อ่าน ซึ่งนำกระแสโดยพี่ตั้ม เจ้าของผลงาน hesheit และพี่องอาจ เจ้าของผลงานสุดเดิ้นอย่างพระเจ้าเป็นหมา (ผมยังไม่ได้อ่านครับ และอยากอ่านมาก) และหัวแตงโม

สำหรับสองคนนี้ผมโอเคแหละครับที่เขาอาร์ตและปรัชญาล้ำโลกได้ เพราะผลงานของพวกเขาไม่ได้ล้ำไปกว่าคนอ่านซักเท่าไหร่ ผลงานที่สร้างความอบอุ่นแก่คนอ่านจิตใจอ่อนไหวแบบผมได้ (ผมอ่านการ์ตูนสั้นเรื่องตู้พยากรณ์ของพี่ตั้มจบ ผมน้ำตาไหลท่วมแบบกลั้นไม่ไหว หลังจากนั้น hesheit 10 เล่ม everybody everything และควันใต้หมวก ผมสอยมาหมด ผลงานทั้งหมดมันน่ารักและอบอุ่นเกินบรรยาย)

เมื่อกระแสมันซุยมาดีขนาดนี้ นักเขียนการ์ตูนเลือดใหม่ต่างเฮโลพากันเขียนการ์ตูนโคตรอาร์ต ปรัชญาลึกซึ้งเย็ดแม่ คนอื่นอินมั้ยผมไม่รู้นะ แต่ผมโคตรสะอิดสะเอียน มันขาดความอบอุ่นของการ์ตูนที่คนเขียนจะส่งมอบให้คนอ่าน มีแต่ความบ้าพลังที่ไม่รู้ว่าคนเขียนตั้งใจจะโชว์พาวหรือเปล่า ผมซื้อ let’s ฉบับแรกมา อ่านแทบทุกเรื่องร้องเย็ดแม่ มันจะอาร์ตไปไหนวะ ผมไม่ได้ตำหนิว่าการ์ตูนอาร์ตมันผิดแต่ช่วยเขียนการ์ตูนกระแสหลักให้มันเข้าที่เข้ารอยกันหน่อยไม่ได้เหรอ (ที่เห็นว่าเป็นการ์ตูนไทยกระแสหลักเจ๋งๆ ก็อาทิเช่น Joe Sea-cret Agent, มีดที่ 13, จิตหลุด และตระกูล the duang ยังมีเรื่อง executional ที่อ่านบ้างไม่อ่านบ้าง ก็สนุกดี)

มันทำให้ผมเซ็งการ์ตูนไทยไปพักใหญ่ๆ ในใจเฝ้าฝันว่าการ์ตูนไทยกระแสหลักเนื้อเรื่องจะแอคชั่น ดราม่า ตลก กีฬายังไงก็ได้ ขอแค่กระแสหลัก! พาลให้ผมคิดถึงการ์ตูนไทยรายปักษ์ฉบับหนึ่งเมื่อสมัยที่ผมอยู่ม.ต้น นั่นคือนิตยสาร CX ที่มีเรื่องมันขั้นอ๋องคือ Angel Delivery (ผลงานเดียวกับ Executional) แต่น่าเสียดายที่นิตยสารนี้ปิดตัวลง เนื่องด้วยเศรษฐกิจของบริษัท และยังผิดที่นิตยสารนี้เปิดตัวก่อนกระแสการ์ตูนไทยบูม แต่นั่นแหละ มันเลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความบูมการ์ตูนไทยแบบฉุดไม่อยู่ นักเขียนการ์ตูนดังๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

แต่ดันเสือกเป็นดอกเห็ดอาร์ตๆ ซะส่วนใหญ่

ใกล้เปิดเทอมขึ้นปี 3 ผมเห็นหนังสือการ์ตูนเล่มหนึ่งตั้้งในชั้นหนังสือ ปกสีขาวสะอาด ด้านขวาปกมีรูปตัวละครระบายด้วยสีน้ำดิจิตอลสวยงามวางอยู่ มองไปที่ชื่อเรื่องบนหน้าปก Love on 20 pages พอเดาได้ว่าเนื้อในคือการ์ตูนรักที่จะจบใน 20 หน้า สันปกมีโลโก้ของนิตยสาร let’s เอาแล้วไงจะอาร์ตเปล่าเนี่ย อคติก่อตัวในมโนสำนึก เปิดผ่านๆ ภาพก็ไม่ค่อยสวย เอาไงดี อ่านดีปะวะ ว่างๆ อ่านหน่อยแล้วกัน

พรึ่บเสียงเปิดกระดาษ

หน้าแรกเปิดด้วยภาพสี่สี อาฮะ ก็สวยดี แต่กราฟิกดูคอมพิวเตอร์ไปหน่อย อคติยังไม่จาง ผมรู้สึกว่าการ์ตูนไทยยุคหลังๆ มันใช้มือวาดเองแบบจริงจังน้อยเหลือเกิน มาต่อกันที่เนื้อเรื่อง เปิดเรื่องด้วยลำเรื่องที่ non-linear narrative อธิบายเป็นภาษาไทยคือเล่าเรื่องไม่เรียงลำดับเวลา เอ๊ มันจะอาร์ตเปล่านะอ่านต่อไปอีกซัก 3-4 หน้า โอเคเริ่มเข้าใจเนื้อหาละ การ์ตูนโรแมนติกคอมเมอดี้และเป็นการ์ตูนในกระแส! การ์ตูนที่เฝ้าฝัน และการ์ตูนไทยซะด้วย

เวลาผ่านไปหลายรอบ 20 หน้า

ปิดหนังสือ อ่านคำนิยมที่เขียนอยู่ท้ายเล่มของพี่มะเดี่ยว พี่คณะผมเอง

นั่งพักบนโซฟา ในร่างกายเหมือนมีอะไรแปรปรวนเล็กน้อย ภายในทรวงอกรู้สึกพองโต สมองโล่ง ปลดปล่อยรอยยิ้มในใจ มันคือคือความรู้สึกที่เรียกว่าความอบอุ่นของผม

การ์ตูนไทยเรื่องนี้ ผุ้เขียนได้ฝากความอบอุ่นผ่านลายเส้นยุ่งๆ ภาพสถาปัตยกรรมในกรอบการ์ตูน การเรียงลำดับช่อง คำพูดในกรอบบอลลูน ตัวหนังสือในกรอบสี่เหลี่ยม แผ่ความงาม ความรู้สึก ความอบอุ่น ผ่านปลายนิ้วมือที่สัมผัสกระดาษ ผ่านสายที่จดจ้องอยู่กับเรื่องราวในรูปภาพ สู่สมองผ่านเส้นประสาทไปทุกส่วนอวัยวะ การ์ตูนกระแสหลักว่าด้วยเรื่องรักใน 20 หน้าที่รวบรวมทั้งอารมณ์ เศร้า ซึ้ง ตลก รำคาญ ประสานเป็นความอบอุ่น มันอบอุ่นจริงๆ นะเรื่องนี้ ไม่งั้นไม่พูดหลายรอบหรอก โอ้มายก็อด

การ์ตูนญี่ปุ่น หรือที่เราเรียกว่ามังหงะนั้น ถ้าพูดถึงความอบอุ่นแล้วมังหงะที่สร้างความอบอุ่นให้ผมมากที่สุดคือผลงานของอ.อาดาจิ มิตซึรุ (ทีญี่ปุ่นเรียกนักเขียนการ์ตูนว่าเซนเซย์ แปลเป็นไทยว่าอาจารย์ แล้วมีคนไทยนำวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาเรียกนักเขียนการ์ตูนไทยว่า อ.ต่าย อ.นิค ให้ตายสิ ผมว่ามันโคตรไม่เข้ากัน เรียกพี่ต่าย พี่นิค อาวัฒน์อะไรอย่างนี้ยังดูลื่นกว่า หรือเรียกครูต่ายก็ยังดีกว่ามั้ง?) ผลงานของอาจารย์ท่านนี้ ผมรู้สึกได้ว่า เป็นมังหงะที่มีพลังเท่าภาพยนตร์ มีความละเมียดละไมราวกับวรรณกรรม และยังสนุกน่าติดตามสมกับเป็นการ์ตูน ใครที่เคยอ่านคงเข้าใจกันดีว่ามันเป็นยังไง ภาพในช่องการ์ตูนที่ตัดจากหน้าเหงาๆ ของตัวละครไปเป็นภาพสถาปัตยกรรมเห็นแค่หลังคาบ้าน ประกอบกับต้นไม้ที่วาดอย่างละเอียดลออ มีฉากหลังเป็นท้องฟ้าที่แปะด้วยสกรีนโทนเนี้ยบๆ เสียงประกอบมิ้งมิ้ง ของจักจั่นลอยมา เอาเถอะเล่าเป็นตัวหนังสือให้ตายยังไงก็ยังมีภาพในใจไม่เท่าของที่อาจารย์อาดาจิเขียนหรอก คนที่ไม่เคยอ่านควรไปซื้ออ่าน คนที่เคยอ่านมาก่อนก็ไปหยิบมาอ่านใหม่ซะ

พูดถึงอ.อาดาจิทำไม? ก็เพราะเรื่อง Love on 20 pages พอได้อ่านแล้วก็รู้สึกเหมือนผลงานของอาจารย์เค้าน่ะสิ

ที่พูดอย่างนี้ ผมไม่ได้จะบอกว่าพี่น้ำมนต์คนเขียน Love on 20 pages เนี่ยเป็นอ.อาดาจิ 2 หรอก เพราะพี่น้ำมนต์เขาก็คือพี่น้ำมนต์ 1 นี่แหละ ผลงานพี่เขาอาจจะมีแรงบันดาลใจจากใครมามากน้อยผมก็ไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ เรื่องนี้ไม่มีใครเหมือน

แต่มีอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้การ์ตูนไทยเล็กๆ ของพี่น้ำมนต์ มีมนต์เสน่ห์เหนือกว่าการ์ตูนมังหงะเทพๆ ของอ.อาดาจิ นั่นคือประสบการณ์ร่วม ตามที่คุณเกรียงไกร หรือพี่ิปิงพี่คณะผมอีกเช่นกันได้เขียนเอาไว้ในคำนิยมของเล่ม 2

การ์ตูนเรื่อง Love on 20 pages

การ์ตูนเรื่อง Love on 20 pages

ประสบการณ์ร่วม คืออีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกสนุกไปกับการ์ตูน วรรณกรรม ภาพยนตร์ หรือสื่อศิลปะอื่อนๆ ใดๆ ก็ตามมากยิ่งขึ้น ประสบการณ์ร่วมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความรักตามที่บอกในชื่อเรื่อง Love on 20 pages หรอกนะ เพราะความรักเป็นเรื่องสากล ใครๆ ก็ย่อมมีประสบการณ์ร่วมอยู่แล้วแหละ แต่ในการ์ตูนไทยมันหมายถึงสถานที่ในท้องเรื่อง คุณคนที่เคยอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นคงเคยรู้จักแหล่งชิบุย่า ไซตามะห่าเหวที่คุณก็คงแค่รู้จักและผ่านไปในความคิด แต่ในการ์ตูนไทยถ้าสถานที่ในท้องเรื่องเป็นสถานี้รถไฟฟ้า BTS สกายวอล์ค เซ็นทรัลเวิร์ล คุณจะรู้สึกภูมิใจและประทับใจที่เคยได้มีประสบการณ์ร่วมกับตัวละครในการ์ตูนมันรู้สึกเจ๋งปานนั้น

อีกทั้งความรักในเรื่องไม่ใช่เพียงแค่ความรักระหว่างแฟนหวานแหววชวนเลี่ยนแบบหนังสือแจ่มใส (ไม่ได้ด่าว่าหนังสือแจ่มใสห่วย แต่มันไม่มีอะไรสปาร์คความคิดในสายตาผม) แต่เป็นความรักแบบบ้านๆ พื้นๆ ง่าย ที่หลายคนเคยประสบ เช่น รักแบบสามีภรรยา รักเขาข้างเดียว รักระหว่างพี่น้อง รักระหว่างพ่อลูก รักระหว่างแม่ผัวลูกสะใภ้ ความรักฉันมิตรภาพระหว่างเพื่อน เด็กนักเรียนแอบรักครูสาวสุดสวย รักที่มีต่อคนที่ไม่รู้จักในสังคม ไม่หวานแหววหรอก แต่อบอุ่นมากจนต้องขอพูดอีกที

ความรักมันมีนิยามมาจำกัดยากเกินที่จะบอกภายใน 20 หน้า รักคือการให้? รักคือการรับ? รักคือการตอบแทน? รักคือการที่ได้เห็นคนที่เรารักมีความสุข? ฯลฯ แล้วไง เพราะทั้งหมดนี้คือรัก แค่มีความรู้สึกดีให้ต่อกัน ไม่ต้องมาหาคำนิยามมาทาบทามให้มันวุ่นวายหรอก

เมื่อเรามีรัก เราก็รู้จักที่จะยิ้ม

และเรียนรู้ที่ยิ้มให้กันและกัน

LOVE ON 20 PAGES…


ขอสักคน

ทุกครั้งเราเหงา เราก็มักต้องการใครเคียงข้างอยู่เสมอ

จะหนักยิ่งกว่าถ้าเหงาท่ามกลางผู้คน แต่ไม่มีใครมาอยู่ด้วยเลย

หรือความจริง

เราแค่เรียกร้องความสนใจ

เมื่อไม่มีใคร ก็แกล้งเหงาไปงั้นๆ ทำอะไรงี่เง่ามากมายเผื่อว่าจะมีคนมอง พออยู่ท่ามกลางผู้คนมันก็เด่นง่ายนั่นเอง

หรือความจริงแล้วอาการเหงาไม่มีจริงหรอก


หนังสือเรียน

วันสปอร์ตเดย์ของคณะนิเทศศาสตร์ ผมได้พบพี่คนหนึ่งชื่อพี่หวอ เขาอยู่คณะนิเทศ จุฬาฯ รุ่น 32 (ผมอยู่รุ่น 43)

อายุก็ต่างกันตั้งมาก ผมไม่เคยคุยกับพี่หวอมาก่อน แต่สิ่งที่ลากให้ผมไปคุยคือ พี่หวอเป็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนม.ต้นของผม และเคยเรียนกับแม่ผม

ผมเข้าไปถามพี่หวอว่าจำแม่ผมได้มั้ย พี่หวอใช้เวลาคิดอยู่ซักครู่หนึ่ง ก่อนที่จะนึกขึ้นได้ว่าแม่ผมคือครูที่พี่หวอปาหนังสือเรียนใส่ และตะโกนว่า “ทำไมต้องเรียนด้วยหนังสือด้วยวะ?”

ทำไมต้องเรียนด้วยหนังสือด้วยวะ?

หนังสือเรียนและโรงเรียน เป็นจุดสตาร์ทจุดหนึ่งในยุคสมัยนี้ ถ้าอยากใช้ชีวิตเยี่ยงปุถุชนในสมัยนี้ได้ก็ต้องเริ่มมาจากสองอย่างนี้แหละ

แต่สำหรับความคิดผม ผมเห็นด้วยกับพี่หวอที่ว่า หนังสือเรียนไม่จำเป็นต้องมาคู่กับโรงเรียนเสมอไป

เพราะโรงเรียนที่ผมเคยเรียนมา 4 ที่ ตั้งแต่อนุบาลยันจบม.ปลาย ก็ไม่เห็นจะสอนเรื่องในหนังสือเรียนซักเท่าไหร่ อัตราส่วนการสอนเรื่องที่อยู่ในและนอกหนังสือเรียนเรียกได้ว่าครึ่งต่อครึ่งด้วยซ้ำ

การถอดสมการ หนังสือเรียนสอนวิธีทำ แต่ไม่ได้สอนให้แก้ปัญหาโจทย์

การเล่นบาสเก็ตบอล หนังสือเรียนสอนกฎกติกา แต่ไม่สอนการฝึกฝน

การแต่งกลอน หนังสือเรียนสอนฉันทลักษณ์ แต่ไม่ได้สอนการแต่งกลอนให้เพราะ

การระบายสี หนังสือเรียนสอนลักษณะสี แต่ไม่ได้สอนว่าระบายยังไงให้สวย

การตีระนาด หนังสือเรียนสอนให้ตีตามโน้ต แต่ไม่ได้สอนให้แต่งเพลง

การท่องศัพท์อังกฤษ หนังสือเรียนมีศัพท์ให้ท่องมากมาย แต่ไม่ได้สอนให้เราไปคุยกับฝรั่ง

แต่ผมสามารถคิดโจทย์เลขบางข้อได้ เล่นบาสได้บ้าง แต่งกลอนได้โอเคอยู่ ระบายสีน้ำพอใช้ได้ แต่งเพลงไม่เป็นแต่พอฮัมโน้ตตามอารมณ์ได้ คุยกับฝรั่งก็พองูๆ ปลาๆ

ก็อย่างที่บอก หนังสือเรียนเป็นจุดสตาร์ท แต่พอเราวิ่งออกจากจุดสตาร์ทไปยังเส้นชัย จุดสตาร์ทก็ยังอยู่ที่เดิม มีแต่ร่างกายของเรา และมันสมองเท่านั้นแหละที่ไปถึงเส้นชัย

ระหว่างที่วิ่งให้ถึงเส้นชัย แค่ใช้กายกับกึ๋น ทิ้งหนังสือเรียนไว้ที่จุดสตาร์ทเบื้องหลัง

แต่ขณะที่การศึกษาไทยพยายามยัดเยียดหนังสือเรียนให้เอาไปด้วยตลอดทาง ถ้าตกก็ต้องย้อนกลับไปเก็บ มันก็เลยถึงเส้นชัยช้าอย่างนี้แหละ

สำหรับแม่ผม แม่ผมใช้วิธีการสอนด้วยหนังสือเรียนจริงๆ น่ะแหละ แต่แม่ผมไม่เคยยัดเยียดทุกวิธีลัด ไม่เฉลยก่อนที่นักเรียนจะทำเสร็จ แม่ผมใช้วิธีสอนแค่เป็นจุดสตาร์ทเท่านั้น ที่เหลือที่เป็นพวกระดับแอดวานซ์ ใครจะไปก็ปล่อยให้ไปกันเอง (ผมเคยเรียนกับแม่ผมเอง)

หรือไม่แน่ วิธีการสอนของแม่ผมอาจเปลี่ยนไปนับจากเหตุการณ์นั้น

สำหรับพี่หวอตอนนั้น ถูกแม่ผมปรับตก แม่ผมบอกว่าวันนั้นโกรธมาก แต่ที่ให้ตกไม่ใช่ถูกหักหน้า ไม่ใช่คำพูดของพี่หวอเป็นคำพูดที่ผิด แต่เพราะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาแค่นั้นเอง พี่หวอก็ยังไม่ได้ขอโทษแม่ของผมแต่ประการใด

แต่แม่ผมบอกว่าฝากคิดถึงพี่หวอด้วยนะ…


21 years old

หลังกลับจาก Longtrip 1 วัน วันนั้นเป็นวันเกิดผม

ในหน้า facebook ของผม มีคนมาอวยพรมากมาย

หนึ่งในนั้นผมได้อวยพรกับตัวเองว่าจะรักคนรอบข้างมากขึ้น

…ก่อนหน้าที่ผมจะอายุ 21 ปี แม่จับมือผม ถามผมครั้งแล้วครั้งเล่า “รักแม่มั้ยนนท์” ผมตอบว่า “รัก”

ไม่รู้ว่าผมเข้าใจไปเองหรือไม่ว่าที่แม่ถามผมนั้น ต้องการคำตอบจริงๆ มั้ย

ผมไม่ทราบว่าในครั้งหน้านั้นถ้าแม่ถามผมอีก ผมไม่รู้เลยว่าจะตอบออกมาได้มั้ย

ในเมื่อทั้งชีวิตผมที่่ผ่านมานี้ ผมทำแม่ร้องไห้หลายครั้งเหลือเกิน

…เหมือนกับว่าผมไม่ได้รักแม่เลย

Longtrip ทำให้ผมรู้ว่ามีคนที่รักผมอยู่มากมาย

ผมคิดถึงแม่ แม่รักผมมากเหมือนกัน

แต่ผมไม่แน่ใจเลย ว่าผมรักแม่หรือไม่

ผมรู้ตัวเองว่า ผมมีความสามารถมากมาย

แม่ภูมิใจในตัวผมมาก

แต่นั่น ผมไม่ได้ทำเพื่อแม่เลย ผมทำเพื่อตัวเองทั้งนั้น

…ผมไม่ได้รู้สึกภูมิใจในตัวเองเลย

พ่อ

ผมเม็มชื่อพ่อไว้ในมือถือว่า “สนิท” ชื่อของพ่อ

เหมือนกับผมไม่อยากเรียกเขาว่าพ่อ

จริงอยู่ที่พ่อทำเลวร้ายกับครอบครัวมามาก

ผมไม่รู้ว่าพ่อรักแม่หรือไม่

แต่พ่อรักผมมาก

สำหรับผม ผมยังไม่รู้แน่ชัดเลยว่าก่อนพ่อจะตาย ผมจะไปหาเขาหรือเปล่า…

ยังมีคนทยอยอวยพรผมในหน้า facebook เรื่อยๆ

แม่เป็นคนโทรหาผมคนแรกในวันนั้น

น้องที่น่ารักคนหนึ่งพยายามจะเป็นคนสุดท้ายที่อวยพรในวันเกิดผม

พวกเพื่อนรักของผมโทรมา แม้จะเลยวันเกิดไปไม่กี่นาที

วันนี้เป็นวันที่ผมรู้ว่า คนที่รักผมมีมากมาย ยิ่งกว่าช่วง Longtrip เสียอีก


Longtrip 53

ผมรอคอยลองทริปอยู่ที่เชียงใหม่ติดต่อกันถึง 5 วัน

ลองทริปนี้ทำให้ผมรู้ว่า มีคนที่รักผมอยู่มากมาย

แต่สิ่งที่แย่ไปกว่านั้น … ผมทำให้คนที่รักผมต้องเสียใจ

เหมือนกับว่า ผมไม่ได้รักพวกเขาเหล่านั้นเลย…

แด่Longtrip ’53


Alone in Chianmai

วันที่ 18 มกราคม ผมเดินทางไปเชียงใหม่เพื่อไปร่วมงานฌาปนกิจพญาอินทรีแห่งโลกตัวอักษร ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

ผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ ‘รงค์ หรอก เคยอ่านผลงานเขาแค่เรื่องเดียว และอ่านไม่จบด้วยซ้ำ เคยอ่านเรื่องราวชีวิตของเขาผ่านนิสตยสาร a day แล้วความสุดยอดในชีิวิตของเขาทำให้ผมหลีกหนีความวุ่นวายในกรุงเทพมหานคร ไปอยู่เดียวดายท่ามกลางขุนเขาในนครเชียงใหม่

สำหรับพญาอินทรี ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ผมไม่ได้ผูกพันกับเขาลึกซึ้งมากมาย รู้แต่ว่า ‘รงค์ ไม่ใช่คนดีแต่ก็ไม่ใช่คนเลว เป็นชายกักขฬะที่สุนทรีคนหนึ่งที่สร้างสรรค์สีสันฉูดฉาดดั่งกัญชาในประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย

หลังจากไปร่วมงานฌาปนกิจที่สุสานสันกู่เหล็ก ผมก็ไม่กลับไปที่นั่นอีกเลย

ทางข้างหน้าผมคือเชียงใหม่เบื้องหลังแม่น้ำปิงที่ผมต้องเผชิญอีกห้าวัน

ผมอยู่เชียงใหม่คนเดียวกับจักรยานพับได้สีขาวยี่ห้อ compact bike จากญี่ปุ่นคันหนึ่ง ความจริงผมไม่เชิงอยู่คนเดียวหรอก มีรุ่นพี่อีกคนหนึ่งร่วมทางมาด้วย แต่ตัดสินใจแยกทางกันเพื่อความสะดวกในการขี่จักรยานของผมเอง

ผมใช้เวลาไม่นานในการขี่จักรยานไปรอบๆ ตัวเมืองเชียงใหม่ บางทีก็หลุดไปนอกเมือง การขี่จักรยานดีกว่าการขับจักรยานยนต์หรือรถยนต์ เพราะความช้าของมันทำให้สัมผัสความงดงามของเชียงใหม่ได้นานกว่า

แต่ผมก็ใช้เวลาไม่นานเช่นกัน ในการอดทนที่จะขี่จักรยานต่อไปส่วนหนึ่งมาจากความเหนื่อยล้า อีกส่วนหนึ่งคือการอยู่คนเดียวในเชียงใหม่ มันใช้เวลาไม่นานที่ความเหงาเข้าเกาะกุมจิตใจของผมได้หมดทั้งสี่ห้อง การขึ่จักรยานชมเมืองครั้งสุดท้ายของผม หยุดอยู่ที่วัดอุโมงค์ ที่นั่นผมพบอะไรหลายอย่าง ความงาม ความเก่าแก่ ป้ายพุทธศาสนสุภาษิตที่ติดอยู่ตามต้นไม้ในสวนพุทธธรรม ผมไม่ได้สนใจอ่านหรอก ส่ิงที่อยู่ในความนึกคิดตอนนั้นมีแต่ความสงบในแต่ละย่างก้าวที่ก้าวไปเท่านั้น

เมื่อออกจากวัดอุโมงค์ผมไปหาศิลปินท่านหนึ่งตามที่รุ่นพี่ได้แนะนำไว้ ผมเข้าไปทักทาย อ.เทพศิริ สุขโสภาในบ้านอย่างนอบน้อมและเกรงใจ เพราะเห็นว่าอาจารย์แกกำลังเขียนงานอยู่ แต่แกกลับเรียกผมด้วยท่าทีสบายๆ “เข้ามาดิ๊” สำหรับผมถ้าเป็นคนที่ไม่เคยเจอหน้ากันคงไม่เรียกอย่างสนิทสนมอย่างนี้แน่ อาจารย์แกคงมีลานว่างในจิตใจอยู่มากมายเป็นแน่แท้

เราคุยกันถึงมหาวิทยาลัยชีวิตอยู่นานนับชั่วโมง ชายสองคนที่อายุห่างกันเกือบห้าสิบปีคุยกันเรื่องง่ายๆ ด้วยเรื่องทางเลือกของชีวิต นั่นคือสิ่งที่ผมต้องแบกรับหลังจบหาวิทยาลัย … ความจริงเราก็มีทางให้เลือกตลอดเวลาน่ะแหละ เพราะฉะนั้นผมเลยเลือกที่จะไปเลือกอีกทีในทางเลือกหลังจบมหาวิทยาลัย (งงมั้ยล่ะ)

หลังคุยกันจบผมขอยืมหนังสืองานศพเล่มพิเศษของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ไปอ่านเล่นที่ศาลาหน้าบ้านของอาจารย์

มีประโยคหนึ่งที่คอยย้ำการเลือกของผมนี้ประทับไว้ในจิตใจ

“เรียนอะไรก็ได้ ที่จบมาแล้วทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น”

เป็นบทความที่ลูกชายของ ‘รงค์ เขียนให้พ่อ ประโยคนี้เป็นประโยคที่พ่อบอกกับเขาก่อนที่จะไปเรียนที่ต่างประเทศ

ผมนำหนังสือไปคืนอาจารย์ และออกมาด้วยใจนึกอิจฉา อ.เทพศิริเล็กน้อย ผู้ชายคนนี้จะเป็นผู้ชายที่ไม่มีทางเหงาอย่างแน่นอน

หลังจากนั้นผมตัดสินใจที่จะไม่ขับจักรยานเที่ยวชมเมืองต่อไป ผมมุ่งหน้าเข้าร้านอินเตอร์เน็ตและเข้าสู่เว็บไซต์โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คยอดนิยม ที่นั่นมีเพื่อนผมมากมาย แม้จะเป็นเพื่อนผ่านสายโทรศัพท์ก็ตาม ผมเล่นคอมพิวเตอร์หามรุ่งหามค่ำ เพื่อที่จะกลบทับความเหงาให้ลงไปอยู่ในส่วนลึกของใจอีกครั้ง

แต่แล้วผมก็กลับมาเหงาอีก มันไม่ใช่การพูดคุยจริงๆ แต่สิ่งเดียวที่ผมทำได้ตอนนั้นคือการเร่งเวลาให้เร็วขึ้นด้วยการใช้เวลากับกับเว็บโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คเท่านั้น ผมเร่งเวลาเพื่อที่จะได้พบเพื่อนผมตัวเป็นๆ ในคณะลองทริปที่กำลังจะมาถึง

ตอนนั้นผมได้ค้นพบอีกอย่างว่า ผมไม่สามารถอยู่คนเดียวได้จริงๆ

5 วันในเชียงใหม่กับไมโลดิบและจักรยาน